คุณสมบัติพื้นฐานของหุ้นกู้ที่ควรทราบก่อนการลงทุน
- อายุของตราสารหนี้ (Maturity)
เมื่อท่านต้องการลงทุนในหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้อื่นๆ เงื่อนไขแรกที่ท่านต้องทราบคือ อายุคงเหลือหรือวันครบกำหนดของตราสารหนี้นั้น เพื่อท่านจะได้รู้ว่าจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อไร และมีระยะเวลารับดอกเบี้ยยาวนานเท่าไร แต่ในบางกรณี หุ้นกู้บางรุ่นอาจมีข้อกำหนดพิเศษ (Option) ให้ผู้ออกสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้
ในประเทศไทย หุ้นกู้ที่นิยมออกส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 1 - 5 ปี โดยบริษัทที่ออกหุ้นกู้ระยะยาวๆ เช่น 10 ปีขึ้นไป ยังมีอยู่จำนวนน้อย และมักจะเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือสูงที่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
- ประเภทของอัตราผลตอบแทน
เงื่อนไขสำคัญลำดับต่อไปที่ท่านต้องทราบก่อนที่จะลงทุนในหุ้นกู้ คือ อัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ผู้ออกหุ้นกู้จะจ่ายให้นั้น เป็นประเภทอะไร และจะจ่ายอย่างไร โดยอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อาจจะกำหนดเป็นอัตราคงที่ หรืออัตราลอยตัวก็ได้ และวิธีการจ่ายอาจะจ่ายเป็นงวดๆ แบบสม่ำเสมอ หรือจ่ายเพียงครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุ ณ วันไถ่ถอนเลยก็ได้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้น แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) - หุ้นกู้ และพันธบัตรส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น นิยมกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบตายตัวหรือที่เรียกกันว่าอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ โดยจะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ เช่น ทุกๆ 6 เดือน หรือ ทุกๆ 3 เดือน และจะชำระคืนเงินต้นทั้งจำนวน เมื่อครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
2. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) - หุ้นกู้หรือตราสารหนี้ประเภทนี้ จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ผันแปรไปตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนี หรืออัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิง ในประเทศไทยเรามักจะอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีของธนาคารที่เรียกกันว่า MRR (mimimum retail rate) หรือ MLR (minimum loan rate)
ส่วนในตลาดสากลนั้นมักจะอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เช่น ตั๋วเงินคงคลัง หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินของประเทศนั้นๆ ดังนั้น ถ้าอัตราที่ใช้อ้างอิงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ก็จะผันแปรตามไปด้วย เช่น ถ้ากำหนดให้อัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ เท่ากับ MLR ของธนาคาร ABC+2% ดังนั้น ถ้าธนาคาร ABC ปรับเพิ่ม MLR อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้นี้ก็จะผันแปรตามการเพิ่มขึ้นดังกล่าว และในทางตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ก็อาจปรับลงได้ ถ้าธนาคาร ABC ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR
นักลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้จะได้รับผลตอบแทนตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยในตลาด และไม่ต้องกังวลมากนัก ในกรณีที่เกิดความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาจจะมีการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
3. ไม่จ่ายดอกเบี้ย (Zero - Coupon) - หุ้นกู้หรือตราสารประเภทนี้จะไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยและไม่จ่ายดอกเบี้ยในแต่ละงวด โดยที่เมื่อถึงวันครบกำหนด ก็จะจ่ายคืนเฉพาะเวินต้นตามราคาที่ระบุไว้ตามหน้าตั๋ว ราคาที่ขายให้กับนักลงทุนในครั้งแรก จึงจะต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้ เช่น การขายหุ้นกู้ในราคา 800 บาทจากราคาหน้าตั๋ว 1000 บาท เราจะถือว่าส่วนลด 200 บาทนี้เป็นผลตอบแทนของหุ้นกู้ประเภทที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย
ถึงแม้ว่าหุ้นกู้ประเภทนี้ จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยแต่นักลงทุนที่ทำการลงทุนในหุ้นกู้ประเภทนี้ ก็ยังคงต้องเสียภาษีในส่วนของดอกเบี้ย เหมือนกับการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีการจ่ายดอกเบี้ย โดยที่ปัจจุบันกรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ซื้อรายแรกที่เป็นบุคคลธรรมดาเสียภาษี 15% จากฐานส่วนลดดังกล่าว