สิทธิในการไถ่ถอนก่อนกำหนด
เมื่อท่านทราบถึงข้อมูลที่สำคัญของหุ้นกู้ในเรื่องวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แล้ว ข้อมูลสำคัญที่ต้องทราบควบคู่กันไปก็คือ หุ้นกู้นั้นๆ ไม่มีเงื่อนไขการไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดหรือไม่ และในกรณีที่มีรายละเอียดของเงื่อนไขดังกล่าวอย่างไร
Call
Call คือ สิทธิของผู้ออกหุ้นกู้ที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด ซึ่งอาจจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ โดยสิทธิในการไถ่ถอนก่อนครบกำหนดนั้นจะต้องระบุในข้อกำหนดสิทธิ (Indenture) ของหุ้นกู้นั้นๆ ผู้ออกหุ้นกู้จะได้ประโยชน์จากเงื่อนไขการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดนี้เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดลดต่ำลงมากๆ ผู้ออกหุ้นกู้สามารถเรียกไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดได้ และอาจออกหุ้นกู้ใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าหุ้นกู้เดิม
สำหรับผู้ลงทุน เงื่อนไขการไถ่ถอนก่อนครบกำหนด (Call Feature) เป็นข้อกำหนดที่สร้างความไม่แน่นอนในการคำนวณมูลค่าของเงินลงทุน หรือการคำนวณมูลค่าของหุ้นกู้ เนื่องจากความไม่แน่นอนว่าหุ้นกู้นั้นจะมีมูลค่าไปจนครบกำหนดหรือไม่ เพราะอาจจะถูกไถ่ถอนก่อนกำหนดเมื่อใดก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดลดต่ำลง และมีค่าน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ของหุ้นกู้ ผู้ลงทุนจะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกไถ่ถอนก่อนครบกำหนดการถูกไถ่ถอนก่อนครบกำหนดนี้ จะทำให้ผู้ลงทุนหมดโอกาสที่จะขายหุ้นกู้ดังกล่าวในตลาดเพื่อได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลดลงของอัตราดอกเบี้ย ในกรณีที่หุ้นกู้ถูกไถ่ถอนก่อนครบกำหนด ผู้ลงทุนจำเป็นต้องนำเงินที่ได้รับคินไปลงทุนต่อในหลักทรัพย์ใหม่ ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำกว่าเดิม จะเห็นได้ว่าสิทธิในการไถ่ถอนก่อนครบกำหนด เป็นข้อกำหนดที่ทำให้ผู้ลงทุนเสียเปรียบ ดังนั้น หุ้นกู้ประเภทไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด (Callable Bond) จึ้งมักจะเสนออัตราผลตอบแทน (Yield) ที่สูงกว่าหุ้นกู้ปกติ
อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้นักลงทุนได้ซื้อหุ้นกู้นั้นได้ และเพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจ ผู้ออกหุ้นกู้จึงอาจตั้งราคาไถ่ถอน (Call Price) สูงกว่าราคาหน้าตั๋วนี้เรียกว่า Call Premium โดยทั่วไป มักมีการตั้งข้อกำหนดเพื่อปกป้องผู้ลงทุนจากการไถ่ถอนก่อนกำหนดนี้ไว้ระดับหนึ่ง เช่น กำหนดมีให้บริษัทผู้ออกไถ่ถอนหุ้นกู้คืนก่อนช่วงเวลาที่กำหนด เช่น หุ้นกู้ 5 ปี อาจจระบุเงื่อนไขห้ามไถ่ถอนในช่วง 2 ปีหรือ 3 ปีแรก เป็นต้น
ในประเทศไทย หุ้นกู้ที่มีลักษณะเป็น Callable Bond มีอยู่ค่อนข้างน้อย ตัวอย่างของหุ้นกู้ประเภทนี้ ได้แก่ หุ้นกู้ด้อยสิทธิของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY13NA) และหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBNK13OA) เป็นต้น
Puts
จากที่ทราบแล้วว่าผู้ออกตราสารหนี้ มีสิทธิในการไถ่ถอนหุ้นก่อนครบกำหนด (Call) ในทางกลับกันก็มีหุ้นกู้บางประเภทที่ให้สิทธิผู้ถือหุ้นกู้ หรือนักลงทุนในการขายคืนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดเช่นกัน ซึ่งเรียกหุ้นกู้ประเภทนี้ว่า "Puttable Boand" โดยผู้ถือหุ้นกู้สามารถขายคืนหุ้นให้กับผู้ออกได้เต็มจำนวนตามหน้าตั๋วรวมกับ ดอกเบี้ยค้างรับ และเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวนักลงทุนก็จะต้องยอมรับกับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้นกู้อื่นๆ ที่มีคุณลักษณะเหมือนกัน แต่ไม่มีสิทธิในการขายคืนก่อนกำหนด (Put Feature) สำหรับในประเทศไทย หุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีลักษณะเป็น Puttable Bond มีค่อนข้างน้อย เท่าที่ผ่านมามีเพียงพันธบัตรของธนาคารออมสินบางรุ่น (GSB09DA, GSB12DA) ที่ให้สิทธิแก่ผู้วื้อ ในการไถ่ถอนก่อนกำหนดได้