หุ้นกู้คืออะไร ?
หุ้นกู้ คือ "ตราสารหนี้" ที่ออกโดยภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสรา้งโรงงาน เป็นต้น หุ้นกู้สามารถแบ่งออกเป็นหน่วยๆ แต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่าๆ กัน ในประเทศไทยการออกหุ้นกู้โดยทั่วไปมักจะกำหนดมูลค่าหน่วยละ 1000 บาท
เมื่อท่านซื้อหุ้นกู้ ก็หมายความว่า ท่านให้เงินกู้กับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้นๆ หรืออาจจะแปลได้อีกความหมายก็คือ ท่านจะอยู่ในสถานะของ "เจ้าหนี้" และบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้น จะอยู่ในสถานะ "ลูกหนี้" ของท่าน โดยที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้นให้คำสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และจะชำระเงินต้นคืน ณ วันครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
แตกต่างจากหุ้นสามัญ ที่เมื่อท่านซื้อหุ้นสามัญไปแล้วท่านจะอยู่ในสถานะของ "เจ้าของ" ของบริษัทที่ออกหุ้นสามัญนั้นๆ สัดส่วนความเป็นเจ้าของของท่านก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นสามัญที่ท่านถืออยู่ ทั้งนี้ การอยู่ในสถานะของการเป็นเจ้าของนั้น ทำให้ท่านต้องร่วมรับผิดชอบในหนี้สินของบริษัทนั้นๆ ด้วย
โดยทั่วไปแล้ว การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน แต่สำหรับหุ้นกู้บางรุ่น อาจจ่ายปีละ 4 ครั้ง หรือทุกๆ 3 เดือน ก็ได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันดอกเบี้ยได้รับต้องเสียภาษีรายได้เช่นเดียวกับรายได้ดอกเบี้ยชนิดอื่นๆ สำหรับอายุของหุ้นกู้ มักจะกำหนดเป็นจำนวนปี เช่น อายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี หรือตามแต่ที่กำหนด