ลงทุน 100 ล้านบาท จากวันนี้ถึงกลางปี 2019 อย่างไรดี (17 พฤษภาคม 2561)
หากท่านผู้อ่านมีโอกาสนั่งไทม์แมชชีนไปในช่วงกลางปีหน้า ผมคาดว่าท่านจะเห็นบรรดานายธนาคารกลางในภูมิภาคหลักๆของโลก เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากวันนี้พอสมควร
เริ่มจากธนาคารกลางยุโรป ช่วงกลางปีหน้า น่าจะกำลังได้ประธานธนาคารกลางยุโรปท่านใหม่ ที่มีนามว่า เจนส์ วีดแมน ประธานธนาคารกลางเยอรมันท่านปัจจุบัน ที่ขึ้นชื่อว่ากลัวเงินเฟ้อตามสไตล์เยอรมัน โดยมาริโอ ดรากี กำลังหมดวาระในเดือน กันยายน 2019 หันมาทางฟากธนาคารกลางอังกฤษน่าจะกำลังได้ตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ อังกฤษ ท่านใหม่ ในขณะนี้ มาร์ก ฮาร์มอนด์ รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ ได้เริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าธนาคารกลางอังกฤษท่านใหม่แล้ว โดย มาร์ก คาร์นีย์ จะหมดวาระลงในเดือนมิถุนายน 2019 ผู้ว่าแบงก์ชาติอังกฤษท่านใหม่ น่าจะเป็น เดฟ แรมส์เดน หรือแอนดริว ไบร์เลย์ ทั้งคู่เป็นผู้ที่นิยมการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันทั้งเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงินโดยไม่รู้ตัว จึงมีโอกาสจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างแรง เนื่องจากคำนึงถึงเสถียรภาพด้านการเงินในการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ทางด้านเอเชีย กลางปีหน้า ฮิระอิโกะ คูโรดา ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจจะเริ่มจะหาทางออกจากโหมดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้จีนไม่สามารถคงค่าเงินหยวนที่อ่อนได้ ผนวกกับ คู่หูใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดอย่าง เจอโรม พาวเวล กับ ริชาร์ด คลาริดา จะโชว์ฟอร์มโดดเด่นเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐยังไปได้สวยด้วยการเติบโตแบบต่อเนื่อง แต่จะด้อยในการรับมือเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆว่าคู่หูใหม่นี้ ‘เด่นในเกมรุก แต่ด้อยตรงเกมรับ’ เนื่องจากทั้งคู่ชำนาญด้านการเงินมากกว่าเศรษฐกิจ ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดคงจะไม่สามารถกระทำได้แบบมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐจะคงเป็นตัวถ่วงไม่ให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า โดยเฟดมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวตามสไตล์คู่หูใหม่ที่กล่าวไว้
ผมจึงมองว่า ณ กลางปี 2019 ค่าเงินดอลล่าห์จะอ่อนค่ากว่าในตอนนี้
นอกจากนี้ หากพิจารณาในเมืองไทย กลางปีหน้า น่าจะอยู่ระหว่างจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของประเทศ เมื่อหันมาส่องดูเรื่องฮ็อตๆรอบโลก ผมมองว่ากระแสการจัดกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว และ การนำหุ้นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย Aramco เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ระดับโลก จะโด่งดังช่วงกลางปีหน้า
ดัชนีราคาหุ้นตลาด EM และ DM
ที่มา : Trinity Research
ทีนี้ หากท่านผู้อ่าน Buy-in มุมมองประมาณนี้ แล้วจะลงทุนอย่างไรดี ถ้าเรารู้ว่าค่าเงินดอลลาร์น่าจะอ่อนช่วงกลางปีหน้า ตามสูตรสำเร็จ พอร์ตโฟลิโอที่ผมแนะนำ คงต้องมองไปที่ ตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งยังไม่แพงเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นของประเทศพัฒนาแล้ว ดังรูป ตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นสหรัฐที่เน้นส่งออก โดยเรามองว่าเฟดในยุค ‘พาวเวล/คลาริดา’ ในปีแรกของวาระเฟด ตลาดหุ้นสหรัฐน่าจะดูไม่ขี้เหร่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และ สินค้าโภคภัณฑ์
ขอเริ่มจากตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ เลือกลงทุนใน MSCI Emerging Markets Index เราคาดว่า Trade War ระหว่างเอเชียกับสหรัฐจะลดความรุนแรงลง หลังเลือกตั้งสหรัฐกลางเทอมสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ โดยมีเซกเตอร์การเงินและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอันดับ 1 และ 2 เพื่อสอดรับกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและกระแสไอทีที่มาแรงมากในกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางขนาดมหึมาในเอเชีย
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย เนื่องจากอยู่ในช่วงเลือกตั้งครั้งใหญ่พอดี จึงขอเลือกเซกเตอร์ธนาคารพาณิชย์และพลังงาน เพื่อดักรอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่จะเอาใจประชาชนที่จะมาเลือกตั้ง โดยมีแบงก์เป็น Leading Indicator ของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นสำหรับต้อนรับการนำหุ้นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย Aramco เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ตามลำดับหันมาที่ตลาดหุ้นสหรัฐที่เน้นส่งออก โดยจะลงทุนในดัชนีดาวน์โจนส์เนื่องจากตัวหุ้นมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศค่อนข้างเยอะ
ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น จะเลือกลงทุนในดัชนี Nikkei เพื่อกระจายการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ทุกเซกเตอร์ ต้อนรับกระแสการจัดกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว
ท้ายสุด ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ มองไปที่น้ำมันดิบ ที่คาดว่าจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบนี้ตอนช่วงกลางปีหน้า ต้อนรับการ IPO ของหุ้น Aramco ตามสัดส่วนการลงทุน ดังนี้
ตราสารการลงทุน |
สัดส่วน |
1. ตลาดหุ้นไทย (พลังงานและแบงก์) | 30% |
2. ตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (MSCI EM) | 30% |
3. ตลาดหุ้นสหรัฐ (DJIA) | 15% |
4. ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (Nikkei) | 15% |
5. สินค้าโภคภัณฑ์ – น้ำมัน (WTI) | 10% |
ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนกับ 100 ล้านของท่านนะครับ