หรือว่านี่คือเวลาของ Refinery Sector? (29 สิงหาคม 2560)
ค่าการกลั่นเฉลี่ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มโรงกลั่นที่จะได้รับประโยชน์ได้แก่ BCP, ESSO, IRPC, PTTGC,
August 29, 2017, เอกรินทร์ วงษ์ศิริ, CFA
ตอนนี้ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเตรียมตัวรับมือกับ Hurricane Harvey ที่ถือว่าเป็นเฮอริเคนที่มีกำลังแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ที่กำลังจะเคลื่อนเข้ามาปะทะกับรัฐ Texas ในอ่าวเม็กซิโกในช่วงวันศุกร์ที่จะถึงนี้ (พื้นที่ประเทศไทยเทียบเท่าได้กับ 3 ใน 4 ของรัฐ Texas) และเมืองที่สำคัญของรัฐคือเมือง Houston ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจน้ำมันของโลก และมีศูนย์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่ด้วย ตอนนี้ Houston ถูกพายุและน้ำท่วมหนักและกำลังเตรียมรับมือกับเฮอริเคน โดยภาครัฐสั่งปิดโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมดในบริเวณนั้นเพื่อลดความเสียหาย โดยคาดว่าปริมาณน้ำมันจะหายไปประมาณ 1 ล้านบาเรลล์ต่อวันแค่จากการปิดโรงกลั่นที่ Houston ที่เดียว ในภาพใหญ่คือ 22%ของกำลังการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกจะหายไป
หากเปรียบ Houston เป็นประเทศ ก็จะเป็นประเทศที่ใหญ่อันดับ 30 ของโลกวัดจากขนาดของเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันเมื่อคืนนี้ลดลงเกือบ 3% เนื่องจากถนนถูกตัดขาดจากน้ำท่วมและทำให้ Demand การใช้น้ำมันลดลงมากกว่าที่ Supply น้ำมันที่ลดลงจากโรงกลั่นที่ปิด ราคาน้ำมัน และค่าการกลั่นน้ำมันจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อกำไรของอุตสาหกรรมน้ำมันในเมือง Houston
ในภาพรวมปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อ “ค่าการกลั่นน้ำมัน” (Refinery Margin) ทั้งในระยะสั้นและยาวคือ Demand/Supply ของน้ำมันสำเร็จรูป พูดง่ายๆคือ หากความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ค่าการกลั่นก็จะสูงขึ้น หรือหากการผลิตน้ำมันมีความขาดแคลนค่าการกลั่นก็จะสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
ทางฝ่ายวิจัยของทรีนีตี้ได้ทำการศึกษาผลกระทบของ Supply น้ำมันสำเร็จรูปต่อการเคลื่อนไหวของค่าการกลั่นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับระยะยาว เราได้ศึกษาสถาวะการเพิ่มขึ้นของ Supply น้ำมันเทียบกับการเคลื่อนไหวของค่าการกลั่น และ
สำหรับระยะสั้น เราได้ศึกษาสภาวะการเกิดภาวะ Supply shortage ของน้ำมันสำเร็จรูปกับค่าการกลั่น
ในเชิงของระยะยาว
เราได้ทำการรวบรวมข้อมูลการเพิ่มขึ้นของกำลังการกลั่นตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาและทำการ plot เปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของค่าการกลั่นสิงคโปร์แล้วก็พบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยมีการเคลื่อนไหวผกผันกับการอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณการกลั่น พูดง่ายๆคือ หากมีอัตราปริมาณการกลั่นเพิ่มขึ้น ค่าการกลั่นจะมีราคาที่ลดลงในทางตรงกันข้าม
ในเชิงของระยะสั้น
เราศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิด Supply Shortage ของน้ำมันสำเร็จรูปกับค่าการกลั่น โดยใช้ข้อมูลการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นเป็นปัจจัยบ่งขี้การเกิดสภาวะขาดแคลน ผลที่พบก็คือ การปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นนั้นมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของค่าการกลั่น ซึ่งหมายถึงว่า หากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นเพิ่มขึ้น (เกิดภาวะขาดแคลน) ราคาค่าการกลั่นก็จะสูงขึ้น โดยผลการศึกษาของเราคือความสัมพันธ์นี้จะส่งผลต่อทิศทางค่าการกลั่นในอีก 4 เดือนข้างหน้า
ที่น่าสนใจที่สุดและสามารถนำข้อมูลนี้มาประกอบกับ Sentiment การลงทุนในช่วงนี้คือ ในเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมาเป็นช่วงเดือนที่โรงกลั่นในระดับ Global มีการปิดตัวเพื่อซ่อมบำรุงมากที่สุด และก็จึงเป็นปัจจัยสะท้อนได้ว่าในอีก 4 เดือนข้างหน้ามีโอกาสที่ค่าการกลั่นเฉลี่ยจะทำจุดสูงสุดในเดือนกันยายนนี้
สถานการณ์ค่าการกลั่นในปัจจุบันคือโรงกลั่นในแถบภูมิภาคเอเชียมีการปิดซ่อมบำรุง ในขณะที่ Demand ต่อน้ำมันสำเร็จรูปยังเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของภาคการผลิตและภาคขนส่ง ดังจะเห็นได้จากส่วนต่างราคาของน้ำมัน Jet และ Diesel ที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้เหตุการณ์ระเบิดของโรงกลั่นในประเทศจีนคือ PetroChina Dalian Petrochemical Corp เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมายิ่งทำให้ supply น้ำมันสำเร็จรูปในภูมิภาคตรึงตัวมากขึ้น
โดยสรุปคือเรามองว่าแนวโน้มค่าการกลั่นเฉลี่ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าและแนวโน้มในปี 2561-2562 ค่าการกลั่นยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
สำหรับหุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่จะได้รับประโยชน์จากค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ BCP, ESSO, IRPC, PTTGC, SPRC, และ TOP
ทั้งนี้ท่านสามารถ อ่านบทวิเคราะห์แบบเต็มได้ที่ http://bit.ly/2vnm3JJ