ว่าด้วยการประชุมแจ็คสันโฮล ปี 2017 (28 สิงหาคม 2560)
กลับมาเป็นไฮไลต์ของงานร่วมกับนางเจเน็ต เยลเลน
August 28, 2017 , ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
งานสัมมนาธนาคารกลางสหรัฐ ณ เมืองแจ็คสันโฮล ปี 2017 นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี กลับมาเป็นไฮไลต์ของงานร่วมกับนางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดอีกครั้ง บทความนี้ ขอประเมินนัยยะจากการประชุม ดังนี้
ผมมองว่า นายดรากิ พูดมีนัยยะที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1.
ผมคิดว่านายดรากิน่าจะมองว่านโยบายการเงินสำหรับยุโรปถือว่ามาสู่จุดที่พ้นโหมดผ่อนคลายได้ในไม่ช้า จึงมุ่งเน้นในส่วนของเสถียรภาพของสถาบันการเงินในช่วงท้ายของสุนทรพจน์ โดยมองว่าในช่วงนโยบายการเงินแบบอัตราดอกเบี้ยต่ำ การยกการ์ดสูงของนโยบายสถาบันการเงินเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตตามนโยบายการเงินที่เอื้อให้เกิดฟองสบู่ได้แบบไม่เสี่ยง
2.
หากสังเกตดีๆ นายดรากิพูดเพื่อโน้มน้าวให้กระแสที่มาแรงมากในช่วง1-2ปีนี้ คือ ‘protectionism’ ลดระดับความน่าเชื่อถือลง โดยเขาตั้งคำถามว่าภายใต้สภาวะแวดล้อมที่โลกตะวันตกเข้าสู่สังคมมผู้สูงอายุ จะมีตัวช่วยใดที่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วพอที่จะช่วยเลี้ยงดูผู้สูงอายุในอีก10-20ปีต่อจากนี้ คำตอบคือการเปิดให้มีการค้าขายกันอย่างเสรี เนื่องจากสิ่งนี้ จะไปเพิ่มระดับผลิตภาพหรือ ประสิทธิภาพในการผลิต ให้ทันกับแรงงานที่ลดลง หากคิดเหมือนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ที่คิดจะเอาแต่ตัวเองรอดโดยไปกีดกันการค้ากับประเทศอื่นๆ ท้ายสุด สหรัฐเองจะไม่รอดเองในระยะยาว ทั้งนี้ประโยคสุดท้ายนั้น นายดรากิมิได้พูดตรงๆ แต่คงจะตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
3.
นายดรากิได้ยกตัวอย่าง ‘ประชานิยม’ที่ว่ากันว่าจะเป็นตัวขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน โดยแท้จริงแล้ว สหภาพยุโรปได้ ทำให้ ‘การเปิดกว้างทางการค้าและแรงงาน’ มีความเท่าเทียมและปลอดภัยได้โดยที่สหภาพยุโรปได้ทำให้เห็นผ่านการออกกฎหมาย Single European Act ในปี 1986